วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กลยุทธ์ในการเรียนภาษา

ในยุคที่ภาษาอังกฤษกำลังเฟื่องฟู มีการใช้ภาษาอังกฤษกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกมุมโลก ทำให้มีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระบบที่หลากหลายลักษณะยิ่งขึ้นกว่าเดิม เกิดมีโรงเรียนสองภาษาและโรงเรียนสามภาษา ที่มีภาษาอังกฤษเป็นตัวร่วมอยู่ด้วย มีโปรแกรมอินเตอร์ที่ใช้ภาษาอังกฤษล้วนในการเรียนการสอน การเรียนรู้ภาษาอังกฤษนอกเหนือจากการเรียนวิชาภาษาอังกฤษโดยตรงจะทำให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะมากขึ้น ถ้าหากสอนวิชาอื่นๆเป็นภาษาอังกฤษด้วยยิ่งมากเท่าใด ผู้เรียนก็จะเก่งมากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันมีการศึกษานอกระบบที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษในรูปแบบต่างๆมากมาย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเรียนภาษาอังกฤษด้วย ถึงแม้จะมีการเรียนภาษาอังกฤษได้หลายรูปแบบ แต่ก็ยังมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอยู่เช่นเดิม
การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในปัจจุบันยังคงมีปัญหาในเรื่องคุณภาพมาตรฐาน กล่าวคือ ผู้เรียนส่วนใหญ่ในทุกระดับยังไม่รู้ภาษาอังกฤษพอที่จะสามารถฟัง พูด อ่าน เขียน และแปล ในขั้นที่ใช้การได้อย่างแท้จริง เมื่อมีการหยิบยกปัญหาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษขึ้นมาวิจารณ์ ส่วนใหญ่จะมองไปที่ปัจจัยภายนอกผู้เรียน กล่าวคือ โทษครูผู้สอนว่าขาดความรู้ความชำนาญในการใช้ภาษาและขาดวิธีการสอนที่ได้ผล โทษตำราเรียนและสื่อการเรียนการสอนว่าขาดคุณภาพ โทษสถานศึกษาว่าจัดหลักสูตรภาษาอังกฤษน้อยเกินไป โทษนโยบายของรัฐว่าขาดยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษา และโทษสภาพแวดล้อมทางสังคมว่าไม่เอื้อต่อการใช้ภาษาในสถานการณ์จริง ข้าพเจ้าคิดว่าการจะเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ผลย่อมต้องมีปัจจัยหลายด้านมาประกอบกัน แต่ตัวผู้เรียนสำคัญที่สุด ผู้เรียนภาษาอังกฤษจะต้องหันมาพัฒนาตนเองด้วยการพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น และปรับมุมมองต่อภาษาอังกฤษเสียใหม่
Learning Log 2
11st  August , 2015

                ในสังคมโลกปัจจุบันคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ภาษาอังกฤษ” เป็นภาษาสากลที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และเข้ามามีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตจำนวนไม่น้อย จากอิทธิพลของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ส่งผลให้ภาษาอังกฤษยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร จะเห็นได้ว่าในประเทศไทย แม้รัฐบาลบังคับให้ทุกคนเรียนภาษาอังกฤษในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ก็ยังมีคนไทยจำนวนมากที่พูดภาษาอังกฤษหรือไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ทั้งๆที่รวมเวลาเรียนภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ไม่ต่ำกว่า 10 ปี หรือแม้แต่ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือกระทั่งปริญญาโทยังมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ การสอนภาษาอังกฤษแต่ละชั่วโมงจำเป็นต้องให้นักเรียนได้ฝึกครบทุกทักษะ ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน อีกทั้งผู้เรียนต้องเรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะของการเรียนรู้ การพัฒนาตนเอง และการประเมินตนเองเพิ่มเติม เพื่อที่จะทำให้ผู้เรียนภาษาอังกฤษเรียนภาษาอังกฤษอย่างสัมฤทธิผล
                ลักษณะการเรียนรู้แบ่งได้เป็น 3 ด้าน ดังนี้ คือ ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) และด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) ในทางปฏิบัติที่แท้จริง การเกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย ด้านจิตพิสัย และด้านทักษะพิสัย ไม่ได้แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่การเรียนรู้ทั้ง 3 ด้านมีการทำงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน เช่น การวิเคราะห์ในด้านด้านพุทธิพิสัยอาจจะเกิดก่อนการประยุกต์ใช้ หรืออาจจะเกิดการจัดระบบตามมาในด้านจิตพิสัยก็ได้ ในทางการศึกษามีความมุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถบรรลุถึงลำดับขั้นตอนสุดท้ายของด้านพุทธิพิสัย ด้านจิตพิสัย และด้านทักษะพิสัย นั่นหมายถึงความสำเร็จในการผลิตนักเรียน นักศึกษาออกมาให้เป็นคนเก่งทั้งในด้าน IQ และด้าน EQ โดยลักษณะการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก คือ ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล

                คำว่า  โครงสร้างตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “structure”  ซึ่งพจนานุกรม The American Heritage Dictionary of the English Language (1980:1278) ให้ความหมายไว้ว่า 1) a complex entity. ภาษาเป็นสิ่งที่ซับซ้อน  2) a. The configuration of element, parts, or constituents in such an entity; organization; arrangement.  b. constitution; make-up. ภาษาประกอบด้วยส่วนต่างๆมากมาย และส่วนประกอบเหล่านี้เรียงตัวอย่างเป็นระบบ 3) The interrelation of parts or the principle of organization in a complex entity.  ส่วนประกอบในภาษามีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันและมีกฎหรือระเบียบของความสัมพันธ์
โครงสร้างเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเรียนรู้ภาษาหรือการใช้ภาษา โครงสร้างเป็นสิ่งที่บอกเราว่าเราจะนำคำศัพท์ที่เรารู้มาประกอบกันหรือเรียงกันอย่างไรจึงจะเป็นที่เข้าใจของผู้ที่เราสื่อสารด้วย ในการใช้ภาษาใดก็ตาม ถ้าเราไม่รู้เรื่องหรือเข้าใจโครงสร้างของภาษานั้น เราจะล้มเหลวในการสื่อสาร คือฟังหรืออ่านไม่เข้าใจ และพูดหรือเขียนให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ ในการแปลก็เช่นกัน นักแปลผู้ใดก็ตามที่ถึงแม้จะรู้ศัพท์แต่ละคำในประโยคแต่หากไม่เข้าใจความสัมพันธ์ของศัพท์เหล่านั้นก็มีโอกาสล้มเหลวได้ เพราะอาจตีความผิดหรือถ่ายทอดเป็นภาษาเป้าหมายที่ผิดได้


 บทที่ 1
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการแปล

ความสำคัญของการแปล
                ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่มีการใช้กันทั่วโลกมากกว่าภาษาอื่นๆ ในยุคปัจจุบันมีการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเป็นการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น จากการที่การคมนาคมสื่อสารเจริญรุดหน้าไปอย่างมาก คนต่างชาติต่างภาษาในโลกได้มีการติดต่อกันมากขึ้นทุกวัน การแปลจึงมีความสำคัญมากขึ้นจากการที่ประเทศไทยได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ  โดยที่ประเทศต่างๆล้วนมีภาษาที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความจำเป็นในการที่จะต้องมีการถ่ายทอดความจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศที่ใช้ภาษาต่างกันสามารถทำความเข้าใจกันได้
การแปลในประเทศไทย
                การแปลในประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชส่งโกษาไปเฝ้าพระเจ้าหลุยแห่งประเทศฝรั่งเศส จึงมีการฝึกนักแปลประจำราชสำนัก มีการแปลเอกสารต่างๆในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีการสอนภาษาอังกฤษในราชสำนัก
การแปลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
                ผู้แปลจะต้องเป็นกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมีนักภาษาด้วย ผู้แปลจะต้องติดตาทวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดเวลา  ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงประโยชน์การใช้ให้คุ้มค่ากับเวลาที่จะใช้ในการแปลด้วย
การสอนแปลในระดับมหาวิทยาลัย
                การสอนแปลในระดับมหาวิทยาลัย เป็นการสอนไวยากรณ์และโครงสร้างของภาษา การใช้ภาษา  รวมทั้งการอ่านเพื่อความเข้าใจ
การแปลคืออะไร
                การแปลคือการถ่ายทอดความคิดจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่ง โดยให้มีใจความครบถ้วนสมบูรณ์ตรงตามต้นฉบับทุกประการ ไม่มีการตัดต่อหรือแต่งเติมที่ไม่จำเป็นใดๆทั้งสิ้น อีกทั้งควรรักษาให้ได้รูปแบบตรงตามตันฉบับเดิมอีกด้วยหากทำได้